โรคเจ็บคอ สาเหตุ อาการ และการรักษา

0
5300

โรคเจ็บคอ เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกระคายเคืองในลำคอ อาการดังกล่าวมักเป็นมากเวลากลืนอาหาร น้ำลาย หรือ น้ำ เนื่องจากเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอ เช่น ผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือกล่องเสียง

สาเหตุของการเจ็บคอสามารถแบ่งได้ 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1) การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่นเชื้อไวรัสจากโรค หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ และจาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ฝีรอบต่อมทอมซิล ไซนัสอักเสบ โรคคอตีบ ซึ่งโรคคออักเสบจาการติดเชื้อเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด และ

2) การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคกรดไหลย้อย ใช้เสียงมากเกินไป โรคจมูกอักเสบ สายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกในกล่องเสียงและคอ สารเคมี เครื่องดื่มแอลกฮอล์ การคาท่อเครื่องช่วยหายใจ การฉายแสง หรือจากยาเคมีบำบัด

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่พบได้บ่อย เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย เราสามารถแบ่งอาการเจ็บคอได้ตามระยะเวลาที่เจ็บคอ แบ่งเป็น

1) อาการเจ็บคออาจเป็นแบบเฉียบพลัน สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสหวัด ไวรัสหัด ไวรัสอีสุกอีใส เชื้อเริ่ม หรือเกิดจากโรคคอ ต่อมทอนซิล โรคสายเสียงหรือกล่องเสียง และอาจมีการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อคอตีบ หรือเชื้อราซึ่งพบได้น้อย และ

2) อาการเจ็บคอแบบเรื้อรัง สาเหตุของการเกิดโรคเจ็บคอเรื้อรัง เช่น โรคจมูกอักเสบ เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ ทำให้เยื่อจมูกบวด โรคไซนัสอักเสบ โรคผนังช่องคอหรือสายเสียงอักเสบ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง โรคเนื้องอกของคอและกล่องเสียง โรคเส้นประสาทที่มาเลี้ยงคอ และสิ่งแปลกปลอม เช่นก้างปลา กระดูกคาอยู่ในผนังลำคอหรือต่อมทอนซิลเป็นเวลานาน อาการเจ็บคอเรื้อรังจะต้องเข้ารับการรักษาอยู่เป็นประจำ และทานยาต่อเนื่อง

เมื่อพบว่ามีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ ได้แก่ หายใจลำบาก กลืนลำบาก มีไข้กว่า 38.3 องศาเซลเซียส มีผื่น คลำเจอก้อนที่คอ ไม่สามารถอ้าปากได้ ปวดหูมาก หอบ มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยมีประวัติเคยเป็นไข้รูมาติค โรคลิ้นหัวใจ หรือโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อย่าง เอดส์ เบาหวาน อยู่ระหว่างทำการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์จะทำการวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอที่เกิด โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจจมูก ไซนัส ช่องคออย่างละเอียด แล้วทำการรักษาตามอาการ เช่นให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะจ่ายยาต้านจุลชีพหรือยาแก้อักเสบ (การรับประทานยาต้านจุลชีพโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้)

ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด ของมัน บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกฮอล์ ชา กาแฟ อาจทำให้เกิดการระคายคอได้ หมั่นรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น (น้ำเกลือ1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้ว) น้ำเปล่า หรือน้ำยาบ้วนปาก หรือแปรงฟันหลังทานอาหาร หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน ที่แออัด หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่ไม่สบาย งดใช้เสียงชั่วคราว หันมาทำร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุคอ โดยการดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว หากอาการเจ็บคอเกิดจากโรคอื่นๆ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์คะ หรือสามารถใช้สมุนไพรแก้ไอ แก้เจ็บคอ เพื่อหลีกเลียง โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผล

ถึงแม้ว่าอาการเจ็บคออาจจะดูเป็นอาการเจ็บป่วยที่ธรรมดา ใครๆก็เป็นกันได้ จึงไม่ค่อยใส่ใจหรือวิตกกังวลเมื่อเกิดอาการขึ้น แต่เราจะเห็นได้ว่าอาการเจ็บคออาจเกิดจากการเจ็บป่วยของอวัยวะส่วนอื่นได้ เช่น จมูก ลำคอ ไซนัส กล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือเกิดจากโรคอื่นๆทั้งโรคที่ไม่อันตรายจนถึงโรคที่อันตรายอย่าง เนื้องอก อย่าละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับอาการเจ็บคอนะคะ เดี๋ยวเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้